รณรงค์ประชาสัมพันธ์ วันต่อต้านยาเสพติดโลก (26 มิถุนายน) ประจำปี 2565
ประเภท : ข่าวประชาสัมพันธ์
คำขวัญวันต่อต้านยาเสพติด เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก 26 มิถุนายน ตามมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ลองไปดูความเป็นมาของวันต่อต้านยาเสพติด พร้อมคําขวัญวันต่อต้านยาเสพติดกัน
ด้วยสภาพปัญหายาเสพติดที่ส่งผลให้มีผู้ได้รับความเดือดร้อนทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นจำนวนมาก ทำให้นานาประเทศพยายามร่วมมือกันเพื่อหาทางหยุดยั้งปัญหายาเสพติด จนกระทั่งที่ประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการใช้ยาในทางที่ผิด และการลักลอบใช้ยาเสพติด (International Conference on Drug Abuse and licit Trafficking : ICDAIT) ได้มีมติให้เสนอสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) ขอให้กำหนดวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี เป็น "วันต่อต้านยาเสพติดโลก" นั่นเอง เพื่อให้ประชาชนทั่วโลกได้ตระหนักถึงความร้ายแรงของปัญหายาเสพติด
และในประเทศไทยนั้นก็มิได้ละเลยถึงปัญหายาเสพติด เพราะรู้ว่าเรื่องนี้สร้างความเดือดร้อนแก่ตัวประชาชนเอง และครอบครัว รวมถึงประเทศชาติอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ ศาลาดุสิตาลัย วันที่ 4 ธันวาคม 2545 มีใจความว่า
"....ยาเสพติดนี่มันก่อให้เกิดความเดือดร้อนหลายอย่าง โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ทั้งราชการ ตำรวจ โดยโรงพยาบาล โดยคน เอกชนต่าง ๆ เดือดร้อนหมด และสิ้นเปลือง คนทั่วประเทศก็สิ้นเปลือง แทนที่จะมีเงินทอง มีทุนมาสร้างบ้านเมืองให้สบาย ให้เจริญ มัวแต่ต้องมาปราบปรามยาเสพติด มัวแต่ต้องเสียเงินค่าดูแลรักษาทั้งผู้เสพยา ผู้เป็นคนเดือดร้อนอย่างนี้ก็เสียทั้งเงินและเสียทั้งชื่อเสียง....."
เมื่อได้รู้ถึงปัญหายาเสพติดที่กำลังเป็นปัญหาไปทั่วโลกแล้ว วันนี้ กระปุกดอทคอม ขอพาไปทำความรู้จักกับประวัติความเป็นมาของ "วันต่อต้านยาเสพติดโลก" กันดีกว่า ประวัติความเป็นมาวันยาเสพติด
ในการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการใช้ยาในทางที่ผิด และการลักลอบใช้ยาเสพติด (International Conference on Drug Abuse and licit Trafficking : ICDAIT) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ระหว่างวันที่ 17-26 มิถุนายน 2530 ที่ประชุมได้มีมติให้เสนอสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) ขอให้กำหนดวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี เป็น "วันต่อต้านยาเสพติดโลก" (International Day Against Drug Abuse and Illicit Trafficking)
โดยที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอดังกล่าวในการประชุมเมื่อเดือนธันวาคม 2530 ซึ่งประเทศไทย หนึ่งในประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ได้แสดงเจตนารมณ์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดร่วมกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ ทั่วโลก ด้วยการจัดกิจกรรมเนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดเป็นประจำเสมอมา ดังนั้น เพื่อเป็นการย้ำเตือนให้ประชาชนไทยเกิดความตระหนักว่ายาเสพติดเป็นปัญหาของคนไทยทั้งชาติ ที่ทุกคนควรมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไข สำนักงาน ป.ป.ส. จึงขอเชิญชวนชาวไทยทุกคนร่วมกัน "สวมเสื้อสีขาว" โดยพร้อมเพรียงกันในวันต่อต้านยาเสพติดโลก
ประเทศไทยได้เผชิญกับปัญหายาเสพติดมาเป็นเวลาช้านาน รัฐบาลในแต่ละยุคได้ดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดมาตลอด จนกระทั่งในปี 2501 คณะปฏิวัติภายใต้การนำของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 37 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2501 ให้เลิกการสูบฝิ่นทั่วราชอาณาจักร โดยมีการเผาทำลายฝิ่นและอุปกรณ์การสูบฝิ่นที่ท้องสนามหลวง ในคืนวันที่ 30 มิถุนายน 2502 หลังจากนั้นปี 2504 รัฐบาลได้จัดตั้ง "คณะกรรมการปราบปรามยาเสพติดให้โทษ" ใช้ชื่อย่อว่า ป.ป.ส. สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีอธิบดีกรมตำรวจเป็นประธาน และมีผู้แทนจากทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ
ต่อมา ในสมัยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลได้เล็งเห็นว่า การปราบปรามยาเสพติดไม่สามารถแก้ไขได้โดยการดำเนินการเฉพาะกรมตำรวจฝ่ายเดียว จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 2519 ต่อสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน และประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2519 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศไทยก็ได้ดำเนินไปอย่างมีแบบแผนและเป็นระบบที่ดีขึ้น พระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือเรียกชื่อย่อว่า ป.ป.ส. โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และจัดตั้งสำนักงาน ป.ป.ส. ขึ้นเป็นหน่วยงานกลางรับผิดชอบโดยตรง มีฐานะเป็นกรมกรมหนึ่งในสำนักนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันสำนักกระทรวงยุติธรรม ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ประเทศไทย สำนักงาน ป.ป.ส. ในฐานะหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในประเทศมาโดยตลอด ได้นำมติเรื่องวันต่อต้านยาเสพติดขององค์การสหประชาชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2531 ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กำหนดวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันต่อต้านยาเสพติด โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา วันต่อต้านยาเสพติดในประเทศไทย วันต่อต้านยาเสพติด ประจำปี 2565
เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 สำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยงานภาคี จึงกำหนดงดการจัดกิจกรรมในลักษณะที่มีการรวมตัวกันในพื้นที่ และเน้นให้มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงความสำคัญของวันที่ 26 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นวันต่อต้านยาเสพติดโลก ผ่านสื่อสังคมออนไลน์หรือช่องทางอื่น ๆ ตามความเหมาะสม